1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ

ประวัติวันแรงงานแห่งชาติ

ในสมัยก่อน ประเทศในแถบยุโรปจะนับว่า วันเมย์เดย์ (May Day) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ในหน้าเกษตรกรรม จึงได้จัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวงเพื่อขอให้เทพเจ้าช่วยดลบันดาลให้การปลูกพืชเป็นไปด้วยดี อีกทั้งยังขอให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ มีความร่มเย็นเป็นสุข รวมถึงทางภาคเหนือของยุโรปก็ยังมีการจัดงานรอบกองไฟในวันเมย์เดย์นี้ด้วย ซึ่งประเพณีนี้ในประเทศอังกฤษก็ยังคงปฏิบัติกันสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในตอนแรก วันเมย์เดย์ถือเป็นเพียงแค่วันหยุดพักผ่อนประจำปี แต่ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมในหลายๆ แห่งได้ถือว่าวันนี้เป็นวันหยุดตามประเพณี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์ต่างๆ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ความหมายของวันเมย์เดย์จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จนเมื่อปี พ.ศ. 2433 ได้มีการออกมาเรียกร้องในหลายประเทศทางแถบตะวันตกให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานสากล ทำให้ในหลายประเทศได้เริ่มมีการจัดงานเฉลิมฉลองวันแรงงานเป็นขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 และสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

alt

วันแรงงานในประเทศไทย

อุตสาหกรรมไทยในสมัยก่อนได้เริ่มขยายตัวมากขึ้น ผู้ใช้แรงงานต่างก็มีปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งปัญหาแรงงานก็ยังมีความซับซ้อนยากที่จะแก้ไขได้โดยงาน ทำให้ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงาน โดยเป็นการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน ตลอดจนคุ้มครองและดูแลสภาพการทำงานของแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ดีขึ้น ซึ่งในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกแรงงานได้จัดประชุมขึ้น โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ให้เป็นวันที่ระลึกถึงแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายรัฐมนตรีขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม ทำให้นับแต่นั้นมา วันที่ 1 พฤษภาคม จึงกลายเป็น วันกรรมกรแห่งชาติ จนต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วันแรงงานแห่งชาติ

ในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ที่ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติได้ แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีอายุได้เพียง 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ และให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน อีกทั้งยังกำหนดให้วันกรรมกรเป็นวันหยุดตามประเพณี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นมีความไม่แน่นอน จึงมีคำชี้แจงออกมาในแต่ละปีเพื่อเป็นการเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยในบางมีก็ได้มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. 2517 ได้เปิดโอกาสให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร โดยได้มอบหมายให้กรมแรงงานที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยจัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี ภายในงานได้มีการจัดให้ทำบุญตักบาตร มีนิทรรศการแแสดงความรู้ ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

alt

สำหรับ วันแรงงานแห่งชาติ ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดทางราชการ ฉะนั้น หน่วยงานราชการก็ยังคงเปิดทำงานและให้บริการตามปกติในวันแรงงานแห่งชาติ ส่วนที่มีการหยุดงานจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนเท่านั้น

 

30 เมษายน วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย

วันคุ้มครองผู้บริโภค

          วันคุ้มครองผู้บริโภค อีกหนึ่งวันสำคัญที่จัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องและคุ้มครองผู้ใช้สินค้าและบริการต่าง ๆ ให้ได้รับความเป็นธรรม

          เพราะที่ผ่านมามีผู้บริโภคจำนวนมากถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือรู้ไม่เท่าทันกลยุทธ์ทางการโฆษณา ทำให้หลงเชื่อจนสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อตัวผู้บริโภคเอง ด้วยเหตุนี้ "วันคุ้มครองผู้บริโภค" ที่ตรงกับวันที่ 30 เมษายนของทุกปี จึงถือกำเนิดขึ้น...
ที่มาของวันคุ้มครองผู้บริโภค

          สำหรับที่มาและจุดเริ่มต้นของวันคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ต้องย้อนเล่าไปตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2512 ซึ่งในครั้งนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ จัดตั้งโดยสมาคมผู้บริโภคของประเทศต่าง ๆ รวมตัวกัน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เข้ามาชักชวนองค์กรเอกชนในประเทศไทยให้เข้าร่วมสหพันธ์เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ แต่เนื่องจากองค์กรเอกชนของประเทศไทยขณะนั้นยังไม่พร้อม จึงยังไม่ได้เกิดความร่วมมือกัน แต่ถึงกระนั้นทางสหพันธ์ก็ยังส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาชักชวนอยู่เรื่อย ๆ 

          กระทั่งในปี พ.ศ. 2514 องค์กรเอกชนของประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการศึกษาปัญหาผู้บริโภคมีชื่อว่า "กรรมการศึกษาและส่งเสริมผู้บริโภค" และได้มีวิวัฒนาการเรื่อยมาในภาคเอกชน รวมทั้งได้ประสานงานกับภาครัฐบาล จนถึงปี พ.ศ. 2519 รัฐบาลสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นประธานกรรมการชุดดังกล่าว แต่สุดท้ายก็ได้สลายตัวไปพร้อมกับรัฐบาลในยุคนั้นจากเหตุการณ์ทางการเมือง

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 รัฐบาลในสมัยนายกรัฐมนตรี พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เล็งเห็นความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองบริโภค เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภา ภายหลังรัฐสภามีมติเอกฉันท์ให้เป็นกฎหมายได้ จึงได้นำร่างขึ้นบังคมทูล และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ  ทรงลงพระปรมาภิไธยได้ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษเล่มที่ 96 ตอนที่ 72 วันที่ 4 พฤษภาคม 2522 มีผลการใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2522 เป็นต้นมา

          ด้วยเหตุนี้ จึงกำหนดให้ "วันคุ้มครองผู้บริโภค" ตรงกับวันที่ 30 เมษายนของทุกปี



วันคุ้มครองผู้บริโภค

จุดประสงค์ของการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

          การประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ได้ให้เหตุผลไว้ว่า เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจการค้า และธุรกิจโฆษณา ได้นำวิชาการทางการตลาดและทางการโฆษณามาใช้เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าและบริการมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ เพราะไม่อยู่ในฐานะที่ทราบภาวะตลาดและความจริงเกี่ยวกับคุณภาพและราคาของสินค้าต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องทันท่วงที

          อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎหมายให้คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคโดยการกำหนดคุณภาพและราคาของสินค้า หรือผู้ประกอบธุรกิจโฆษณา แต่เมื่อผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ บางครั้งก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะสละเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีได้ ขณะเดียวกันในบางกรณีก็ไม่อาจระงับหรือยับยั้งการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคได้ทันท่วงที จึงควรมีกฎหมายให้ความคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการทั่วไป จึงได้มีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ขึ้นเพื่อ..

          1. กำหนดสิทธิของผู้บริโภค
          2. กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจการค้าและผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาต่อผู้บริโภค เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค 
          3. จัดให้มีองค์กรของรัฐที่เหมาะสมเพื่อตรวจตรา ดูแลและประสานงานการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่าง ๆ ในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภค 

ภายหลังได้มีการจัดตั้งองค์กรของรัฐเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย

          1. คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
          2. คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ได้แก่ คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา และคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก
          3. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้สังกัดอยู่ในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล 



วันคุ้มครองผู้บริโภค

สิทธิของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติ

          พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้

          1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม

          2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม

          3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว

          4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ

          5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว

          ต่อมาการสื่อสารได้มีความเจริญก้าวหน้าและเข้าสู่ยุคดิจิตอล ทำให้เกิดผู้ประกอบกิจการจำนวนมาก จึงได้มีการจัดตั้ง กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ) ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และจากการที่ กสทช. ได้ทำงานด้านสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ก็ได้กำหนดหลักสิทธิการคุ้มครองขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ มี 7 ข้อ ดังนี้

          1. สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจ โดยข้อมูลนั้นต้องเป็นข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ
          2. สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเนื้อหาที่ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้
          3. สิทธิในการได้รับความคุ้มครองในการเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม
          4. สิทธิในการได้รับความคุ้มครองในข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค
          5. สิทธิในความเท่าเทียมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อ
          6. สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการบริหารจัดการสื่อ
          7. สิทธิในการได้รับการเยียวยาความเสียหายเมื่อได้รับความเสียหาย



วันคุ้มครองผู้บริโภค


ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนผ่านช่องทางใดได้บ้าง

          หากถูกละเมิดสิทธิ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้หลายช่องทาง อาทิ

          - สำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สายด่วน 1166 หรือเว็บไซต์ ocpb.go.th

          - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เว็บไซต์ consumerthai.org 

          - สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่เว็บไซต์ fda.moph.go.th กรณีเกี่ยวข้องกับเรื่องผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุเสพติด วัตถุมีพิษ ที่เว็บไซต์  

          - สำนักงานแพทยสภา ที่เว็บไซต์ tmc.or.th กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านการรักษาพยาบาลหรือบริการของแพทย์  

          - สำนักงาน กสทช. ที่สายด่วน 1200 หรือสำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (รส.) โทร. 02-271-0151 ต่อ 455 โทรสาร 02-271-0151 ต่อ 454 หรือทางเว็บไซต์ bcp.nbtc.go.th กรณีพบเห็นรายการหรือโฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวง เกินจริง อวดอ้างสรรพคุณ เอาเปรียบหรือค้ากำไรเกินควร แจ้งได้ที่สายด่วน

          - สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ที่เว็บไซต์ mrd-hss.moph.go.th กรณีได้รับความเสียหายจากการบริการของสถานพยาบาลเอกชน (คลินิกลดความอ้วน โพลีคลินิก โรงพยาบาลเอกชน)

          - กรมการค้าภายใน ที่สายด่วน 1569 หรือเว็บไซต์ dit.go.th กรณีเกี่ยวกับเรื่องราคาสินค้า การกักตุนสินค้า ไม่ติดป้ายราคา มาตราชั่ง ตวง วัด คุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น

          - กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สายด่วน 1570 หรือเว็บไซต์ dbd.go.th กรณีเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

          - สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สายด่วน 1186 หรือเว็บไซต์ oic.or.th สำหรับเรื่องการประกันภัยประเภทต่าง ๆ

          - สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่เว็บไซต์ tisi.go.th กรณีร้องเรียนคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์

          - องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ที่สายด่วน 1348 หรือเว็บไซต์ bmta.co.th กรณีร้องเรียนด้านขนส่งมวลชน 

          - กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่เว็บไซต์ dopa.go.th กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านการปกครอง

          - ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สายด่วน 1213 หรือที่เว็บไซต์ 1213.or.th กรณีถูกฉ้อโกงเรื่องทางการเงิน

          อย่าปล่อยให้ผู้ประกอบการเอารัดเอาเปรียบ ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคอย่างเราจะลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม และร่วมกันรณรงค์ในการผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น

29 เมษายน วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548 เวลา 18 นาฬิกา 35 นาที ณ โรงพยาบาลศิริราช พระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ และทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร และท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี

ทีปังกรรัศมีโชติ

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ คณะแพทย์ถวายพระประสูติโดยการผ่าตัด เมื่อแรกพระประสูติ ทรงมีน้ำหนัก 2,680 กรัม ความยาวพระองค์ 47 เซนติเมตร รอบพระเศียร 31 เซนติเมตร ลืมพระเนตรเมื่อเวลา 19.00 นาฬิกา ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรง พระเนตรโต พระนาสิกโด่ง

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเสามาอักษร พระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ทองคำ ส่วนของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ อีกทั้งทรงพระมหากรุณาธิคุณอธิบายพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ว่า “ผู้ทำประทีปคือ ปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง, ผู้ทำเกาะคือที่พึ่งให้รุ่งเรื่องโชติช่วง”

พระกรณียกิจ

วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เสด็จไปยังห้องสมุดฝ่ายประถมศึกษาโรงเรียนจิตรลดา เพื่อร่วมกิจกรรมงานสัปดาห์รักการอ่าน และวันที่ 2 ตุลาคมในปีเดียวกันนั้น พระองค์ก็ได้รับเกียรติบัตรพร้อมรางวัล “งานประหยัดน้ำ-ไฟ” ที่จัดขึ้นเป็นประจำในโรงเรียนจิตรลดา

วันที่ 22 กรกฏาคม พ.ศ. 2555 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ได้เสด็จไปยังสนามกีฬากลาง พื้นที่ควบคุมในพระองค์ 904 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ในการประทานถ้วยรางวัลพระราชทานชนะเลิศการแข่งขันเครื่องบินจำลองและ วิทยุบังคับประเภทต่างๆ ในรายการ “เจ้าหนูน้อยเจ้าเวหา”

นี้เป็นเพียงแค่บางส่วนในพระประวัติของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ในวันนี้เราทุกคน จึงควรร่วมกันเป็นถวายพระพรในวันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ กันในวันที่ 29 เมษายน ของทุกๆ ปี

25 เมษายน วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           25 เมษายน วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ แห่งองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของไทย

           วันนี้ตรงกับวันที่ 25 เมษายน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันที่คนไทยควรร่วมน้อมรำลึกถึง เนื่องจาก 25 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ ในอดีตพระองค์ได้กอบกู้อิสรภาพของไทย และทำนุบำรุงบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนปกปักรักษาเอกราชของชาติจนทำให้มีประเทศไทยอย่างเช่นทุกวันนี้ ซึ่งกิจกรรมในวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จะมีการจัดกิจกรรมวางพวงมาลาเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดี และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

พระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

           สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ ทรงพระราชสมภพ ณ พระราชวังจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2098 พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา คือ พระสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระเอกาทศรถ ในขณะที่พระองค์ทรงพระเยาว์ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก และทรงขอสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไปเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นตัวประกันที่หงสาวดี จนพระชนมายุได้ 15 พรรษา พระองค์จึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ. 2098 ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ณ เมืองแครง ประกาศอิสรภาพของชาติไทยโดยไม่ขึ้นกับพม่าอีกต่อไป และทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์สุโขทัย

           ในรัชสมัยของพระองค์ทรงกระทำสงครามขยายพระราชอาณาจักรไทย ให้แผ่ไพศาลไปในจตุรทิศ ทรงเป็นกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ โดยพระองค์ได้กู้คืนอิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยา ช่วยกอบกู้เอกราชของชาติ ทรงผดุงความเป็นไทย ปกป้องรักษาแผ่นดินให้ปลอดพ้นภัยจากอริราชศัตรู เพื่ออิสรภาพของปวงชนชาวไทย โดยในปี พ.ศ. 2124 ทรงแสดงแสนยานุภาพในการยกกองทัพเข้าตีเมืองคังจนได้รับชัยชนะ ต่อมาในปี พ.ศ. 2127 ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2135 ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา จนได้รับชัยชนะ ทำให้พระบรมเดชานุภาพ แผ่ไพศาลไปทั่วปฐพี และปราบปรามหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ได้เมืองตะนาวศรี มะริด ทวาย ต่อมาปี พ.ศ. 2138 และ พ.ศ. 2142 ทรงยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีได้เมืองเมาะลำเลิง และเมืองตองอู จนหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวงยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา
วัตถุประสงค์การจัดงานวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

           1. เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้เป็นพระมหากษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ

           2. เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

           3. เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ทำนุบำรุงบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนปกปักรักษาเอกราชของชาติ

พระบรมราชานุสรณ์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

             - สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้เป็นที่สักการบูชา อยู่ในพระที่นั่งบรมพิมาน

             - พระบรมราชานุสรณ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก

             - ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก

             - พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก

             - พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

             - พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

             - ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ริมหนองบัวลำภู ในจังหวัดหนองบัวลำภู

             - ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่สนามนเรศวร หน้าศูนย์ราชการอำเภอเมืองหนองบัวลำภู 

             - ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑ์สุสานหอยหิน 150 ล้านปีจังหวัดหนองบัวลำภู

           ตราประจำจังหวัดของไทยที่มีพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นองค์ประกอบ ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดตาก และจังหวัดหนองบัวลำภู

การจัดกิจกรรมในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวร ในปี 2557

             - มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดงานรัฐพิธีวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในวันที่ 25 เมษายน 2557 เวลา 07.00-08.00 น. ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

             - จังหวัดอำนาจเจริญ จัดพิธีเทิดทูนพระนเรศวรมหาราช เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ในวันที่ 25 เมษายน 2557 ที่หอประชุมพญานาครินทร์ ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ

             - จังหวัดสมุทรปราการ จัดงานวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในวันที่ 25 เมษายน 2557 ณ ศาลาประชาคมจังหวัดสมุทรปราการ 

             - จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดงานรัฐพิธีเนื่องในคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในวันที่ 25 เมษายน 2557 เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช

24 เมษายน วันเทศบาล

alt



          วันเทศบาล ตรงกับวันที่ 24 เมษายนของทุกปี ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนด วันเทศบาล เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงบทบาท และความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล

ประวัติความเป็นมาวันเทศบาล 

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยใหม่ ให้ทันสมัยเป็นอันเดียวกันกับนานาอารยะประเทศโดยจัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบสุขาภิบาล ที่สุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2441 และได้ขยายการตั้งสุขาภิบาลออกไปในท้องถิ่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ต่อมาเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 ซึ่งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล จนกระทั่งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 จนถึงปัจจุบัน

          ในบรรดาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งต่อการให้บริการสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างดีที่สุด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 70 กว่าปี เทศบาลเป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข และสร้างความเจริญต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนในเขตชุมชนเมือง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาได้ด้วยตนเอง เพื่อตระหนักถึงบทบาท และความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล

          กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีการประกาศลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 กำหนดให้วันที่ 24 เมษายนของทุกปีเป็น "วันเทศบาล" และได้แจ้งให้เทศบาลทั่วประเทศ เทศบาลเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันเทศบาลเป็นประจำทุกปี เช่น การทำบุญตักบาตร การรณรงค์ร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น การจัดหน่อยบริการประชาชนเคลื่อนที่เป็นพิเศษ การจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาท และภารกิจของเทศบาลให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วถึงกัน ในปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง ได้ร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย(ส.ท.ท.) ได้จัดให้มีโครงการวันเทศบาลขึ้น เพื่อเชิดชูความสำคัญของการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล ให้ปรากฏแก่ประชาชนโดยทั่วกัน โดยมีกิจกรรมพิเศษ เช่นทำบุญตักบาตร กิจกรรมการแข่งขันกีฬา และจัดบอร์ดแสดงผลงาน



 

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเทศบาล 

          1. เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญและความเป็นมาของการก่อกำเนิดเทศบาล

          2. เพื่อให้พนักงานเทศบาล ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเทศบาลสามัญ พนักงานครูเทศบาล พนักงานสถานธนานุบาล พนักงานจ้างตามภารกิจ พนักงานจ้างทั่วไป ได้ตระหนักเห็น ถึงความสำคัญ ของการปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล ตลอดจนให้บุคคลากรต่างๆ ได้มองเห็นความสำคัญ ของการบริการ และการอำนวยความสะดวก สร้างความเป็นธรรม ความเสมอภาค ให้กับประชาชนที่มาใช้บริการของเทศบาล

          3. เพื่อให้บุคลากรเทศบาลมีความรักความผูกพัน ความสามัคคีซึ่งจะก่อให้เกิดผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รูปแบบเทศบาลทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 1,144 แห่ง แบ่งเป็น เทศบาลนคร 22 แห่ง เทศบาลเมือง 108 แห่ง และเทศบาลตำบล 1,014 แห่ง

ขนาดของเทศบาล 

          เทศบาลในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามจำนวนประชากรและรายได้ของเทศบาลนั้น ๆ ในพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2496 มาตรา 9, 10, 11 ได้กำหนดขนาดเทศบาล ดังนี้

            มาตรา 9 เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีการประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย

            มาตรา 10 เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลเมือง พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย

            มาตรา 11 เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลนคร พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย

สภาเทศบาล 

            เทศบาลตำบล ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 12 คน

            เทศบาลเมือง ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 18 คน

            เทศบาลนคร ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 24 คน

          ทั้งนี้ สภาเทศบาลประกอบไปด้วย ประธานสภาเทศบาล 1 คน และรองประธานสภาเทศบาล 2 คน นอกจากนี้ ในเทศบาลแต่ละแห่งจะมี "นายกเทศมนตรี" ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานในท้องที่เทศบาลนั้นทั้งหมด และปัจจุบันเทศบาลทุกประเภทมีฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง

บทความ อื่นๆ ...


Thai Arabic Belarusian Chinese (Traditional) English French German Japanese Korean Vietnamese

















 

คุณพอใจ อบต.หนองกระเจ็ด ด้านใด





















 















QR Code
อบต.หนองกระเจ็ด



 


ลิขสิทธิ์ © 2559 - 2564 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเจ็ด จังหวัดเพชรบุรี สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเจ็ด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โทร 0-3258-6261

นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล