วันจันทร์ที่ 01 พฤษภาคม 2017 เวลา 14:25 น.
เขียนโดย นักประชาสัมพันธ์
วันพืชมงคล คือ วันที่กำหนดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นับว่าเป็นพระราชพิธีที่มีความเก่าแก่สืบต่อมาตั้งแต่โบราณเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกรของชาติ อีกทั้งยังเป็นการระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้มีสืบเนื่องมาตั้งแต่เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย การประกอบพระราชพิธีจะกระทำขึ้นที่ท้องสนามหลวง อันประกอบด้วย 2 พระราชพิธี คือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่มีความแตกต่างกันดังนี้
-
พิธีพืชมงคง เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ อาทิ ข้าวเปลือกจ้าว ข้าวเหนียว ข้างฟ่าง ข้าวโพก ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น การประกอบพิธีพืชมงคลก็เพื่อให้พันธ์ุเหล่านั้นปราศจากโรคภัย และอุดมสมบูรณ์ มีความเจริญงอกงามดี
-
พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีที่เริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว ซึ่งการประกอบพิธีแรกนาขวัญนี้ก็เพื่อให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ ฤดูกาลแห่งการทำนา ทำไร่ และเพาะปลูกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
ประวัติวันพืชมงคล
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือพิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาตั้งแต่โบราณเมื่อครั้งที่สุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์มิได้ลงมือไถนาเอง เพียงแต่เสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น เมื่อครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธาน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจกษัตริย์และจะทรงจำศีลเป็นเวลา 3 วัน โดยวิธีการเช่นนี้ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
ต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์ และมิได้ถือว่าเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง จะยกเว้นก็ต่อเมื่อมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร ในตอนแรกๆ มีสถานที่ประกอบพิธีที่ไม่ตายตัว แล้วแต่จะทรงกำหนดให้ ครั้นมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ฉะนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกนับแต่นั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ทำให้มีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ส่วนพิธีกรรมนอกเหนือจากการทำเป็นตัวอย่างที่ทรงจำแนกไว้ 3 อย่าง 2 อย่างแรกที่ว่า “อาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง” ทรงหมายถึง พิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ที่กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า “บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง” ทรงหมายถึง พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีทางพราหมณ์
ฉะนั้น พอสรุปความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุการเกิด พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้ว่า พระราชพิธีนี้มุ่งหมายที่จะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร หวังเพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา อันเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยที่มีมาช้านานและสืบต่อมาจนปัจจุบันยังคงเป็นอยู่เช่นนั้น เพราะด้วยการเกษตรที่มีการทำนาเป็นอาชีหลัก นับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศในทุกสมัย
วันที่เหมาะแก่การประกอบพิธีพืชมงคล
วันประกอบพิธีพืชมงคลนั้นต้องเป็นวันที่ดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้น แรม และฤกษ์ยาม ประกอบกันให้ได้วันอันอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์ แต่จะต้องอยู่ในระหว่างเดือน 6 เพราะช่วงเดือนนี้กำลังจะเริ่มเข้าฤดูฝน อันเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนา เมื่อโหรหลวงได้คำนวณวันอันอุดมมงคลพระฤกษ์ที่จะประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชก็จะบันทึกลงไว้ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี รวมถึงได้กำหนดว่าวันใดเป็นวันพืชมงคล และวันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญไว้อย่างชัดเจน
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เดิมทีจะกระทำที่ทุ่งพญาไท แต่เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงได้เปลี่ยนแปลงสถานที่โดยจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ทั้งนี้ วันแรกนาขวัญ นับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ในวันนี้เป็นวันหยุดราชการ 1 วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบราชการ
อนึ่ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษากันโดยลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นวันเกษตรกรประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีอาชีพทางเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน
กำหนดวันพืชมงคล
-
พ.ศ. 2552 ตรงกับ จันทร์ที่ 11 พฤษภาคม (แรม 3 ค่ำเดือน 6)
-
พ.ศ. 2553 ตรงกับ พฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม (แรม 15 ค่ำเดือน 6)
-
พ.ศ. 2554 ตรงกับ ศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม (ขึ้น 11 ค่ำเดือน 6)
-
พ.ศ. 2555 ตรงกับ พุธที่ 9 พฤษภาคม (แรม 4 ค่ำเดือน 6)
-
พ.ศ. 2556 ตรงกับ จันทร์ที่ 13 พฤษภาคม (ขึ้น 4 ค่ำเดือน 6)
-
พ.ศ. 2557 ตรงกับ ศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม (ขึ้น 11 ค่ำเดือน 6)
-
พ.ศ. 2558 ตรงกับ พุธที่ 13 พฤษภาคม (แรม 11 ค่ำเดือน 6)
-
พ.ศ. 2559 ตรงกับ จันทร์ที่ 9 พฤษภาคม (ขึ้น 4 ค่ำเดือน 6)
-
พ.ศ. 2560 ตรงกับ ศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม (แรม 2 ค่ำเดือน 6)
-
พ.ศ. 2561 ตรงกับ พฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม (แรม 11 ค่ำเดือน 6)
การประกอบพระราชพิธีวันพืชมงคล
พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย โดยข้าวที่นำมาเข้าพิธีพืชมงคลนั้นเป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว อีกทั้งยังมีเมล็ดพืชชนิดต่างๆ รวมกว่า 40 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะถูกบรรจุอยู่ในถุงผ้าขาว นอกจากนี้ก็ยังมีข้าวเปลือกที่ใช้สำหรับหว่านในพิธีแรกนาบรรจุเข้ากระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินอีกคู่หนึ่ง เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดฯ ให้ปลูกในสวนจิตรลดาและพระราชทานมาเข้าพิธีพืชมงคล ซึ่งพันธุ์ข้าวพระราชทานนี้จะใช้หวานในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือทางการจะบรรจุซองแล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนานและประชาชนในจังหวัดต่างๆ เพื่อเป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบัน ได้ดำเนินไปตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ยกเว้นแต่บางอย่างที่ได้มีการดัดแปลงให้เหมาะแก่กาลสมัย อาทิ พิธีของพราหมณ์ ก็มีการตัดทอนให้ลดเหลือน้อยลง พระยาแรกนา ก็ให้ตกเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับ 3 – 4 คือ ขั้นโทขึ้นไป อีกทั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดพระเนตรพระราชพิธีเป็นประจำทุกปี รวมถึงมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทูตานุทูต และประชาชนที่สนใจได้เดินทางมาชมการแรกนาเป็นจำนวนมาก
สำหรับการประกอบพิธีนั้นจะถูกกำหนดขึ้นโดยโหรหลวง ซึ่งในระหว่างพิธีอันสวยงามนี้ ก็จะมีการทำนายปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง โดยพระยาแรกนาจะทำการเลือกผ้า 3 ผืนที่มีความยาวต่างกันตามชอบใจ ซึ่งผ้าทั้ง 3 ผืนนี้มีความคล้ายคลึงกัน หากพระยาแรกนาเลือกผืนที่ยาวที่สุดก็ทายว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมีน้อย แต่ถ้าเลือกผืนที่สั้นที่สุด ทายว่าปีนี้จะมีปริมาณน้ำฝนมาก หรือหากเลือกผืนที่มีความยาวปานกลาง ทายว่าปีนี้จะมีปริมาณน้ำฝนพอประมาณ ต่อมา หลังจากที่สวมเสื้อผ้าที่เรียกว่า ผ้านุ่ง เรียบร้อยแล้ว พระยาแรกนาก็จะไถลงไปบนพื้นที่ท้องสนามหลวงด้วยพระนังคัลสีแดงและสีทอง มีพระโคเพศผู้ลำตัวสีขาวทำหน้าที่ลาก แล้วตามด้วยเทพีทั้ง 4 ทำหน้าที่หาบกระเช้าทองและกระเช้าเงินที่บรรจุเมล็ดข้าวเปลือก นอกจากนี้ยังจะมีคณะพราหมณ์ที่เดินคู่ไปกับขบวน พร้อมทั้งสวดและเป่าสังข์ไปในขณะเดียวกัน
เมื่อเสร็จจากการไถแล้ว พระโคจะได้รับการป้อนพระกระยาหารและเครื่องดื่มทั้งสิ้น 7 ชนิด ได้แก่ เมล็ดข้าว ถั่ว ข้าวโพด หญ้า เมล็ดงา น้ำ และเหล้า ไม่ว่าพระโคจะเลือกกิน หรือดื่มสิ่งใดก็ทายว่าในปีนั้นๆ จะสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่พระโคเป็นผู้เลือก ขั้นตอนต่อมา พระยาแรกนาจะทำการหว่านเมล็ดข้าว ประชาชนจะพากันมาแย่งเก็บ เพราะถือกันว่าเมล็ดข้าวนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง เมื่อเก็บเมล็ดข้าวกลับไปแล้ว ชาวนาก็จะใช้เมล็ดข้าวที่เก็บได้มาผสมกับเมล็ดข้าวของตัว เพื่อให้พืชที่ลงแรงลงกายปลูกในปีที่จะมาถึงนี้มีความอุดมสมบูรณ์
สำหรับพระโคที่จะเข้าพระราชพิธีแรกนาขวัญนั้น จะถูกเลี้ยงดูอย่างดีที่จังหวัดราชบุรี โดยพระโคที่ใช้ในพระราชพิธีจะต้องมีลักษณะที่ดี ขาด หรือเกินไม่ได้ อันประกอบด้วย หูดี ตาดี แข็งแรง เขาทั้งสองตั้งตรงสวยงาม พระโคแต่ละคู่จะต้องมีสีเหมือนกัน อีกทั้งจะมีการคัดเลือกพระโคเพียงสองสี คือ สีขาวสำลีและสีน้ำตาลแดง เจาะจงว่าเป็นเฉพาะเพศผู้เท่านั้นและต้องผ่านการ ตอน เสียก่อนด้วย
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันพืชมงคล
-
ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
-
จัดนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมา ตลอดจนความสำคัญของวันพืชมงคล รวมถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอีกด้วย