13 เมษายน วันผู้สูงอายุไทย

alt

        แม้จะเป็นวัยที่หลายคนนิยามว่าเป็น "ไม้ใกล้ฝั่ง" แต่ "ผู้สูงอายุ" ทั้งหลายคือผู้สร้างประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองมาแล้วนับไม่ถ้วน หรืออย่างน้อยๆ ก็เป็นหนึ่งในผู้มีพระคุณของครอบครัวที่เราจะละเลยเสียไม่ได้ อีกทั้งผู้สูงอายุ ยังนับเป็นประชากรที่มีสัดส่วนมากถึง 3 ใน 5 ของประชากรโลก ด้วยเหตุนี้ ทั่วโลกจึงพากันรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ด้วยการกำหนด "วันผู้สูงอายุ" ขึ้น ประหนึ่งเป็นเครื่องเตือนใจให้บรรดาลูกหลานทั้งหลายหันมอง และเอาใจใส่บุคคลสำคัญเหล่านี้ที่เป็นคนใกล้ตัว

        สำหรับประเทศไทย วันผู้สูงอายุ ถูกผูกรวมไว้กับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่านอกจากจะทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าตามวิถีชาวพุทธแล้ว กิจกรรมสำคัญอันดับต้นๆ ของวัน ก็คือการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือนั่นเอง

ความเป็นมาของวันผู้สูงอายุ

        ในประเทศไทยเริ่มจุดประกายเรื่องนี้ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการกำหนดนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข และได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชรา บ้านบางแค เป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 



วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

 

        1. เพื่อให้การสงเคราะห์คนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือประสบปัญหาความทุกข์ยาก เดือดร้อน ยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ 

        2. เพื่อให้บริการแก่คนชราที่อยู่กับครอบครัวของตน แต่มีความต้องการบริการสงเคราะห์คนชราบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด นันทนาการ 

        3. เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือยากจน ที่ไม่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูคนชราไว้ในครอบครัวได้ 

        4. เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอันเกี่ยวกับคนชรา ไม่ให้เร่ร่อน ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมและให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างผาสุกตามสมควรแก่อัตภาพ 

        5. เพื่อเป็นการตอบแทนคุณความดีที่คนชราได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ 

        6. เพื่อผู้สูงอายุจะได้คลายวิตกกังวล เมื่อชราภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้แล้วทางรัฐบาลมีหน้าที่จะเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูต่อไป



วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

 

        ต่อมา ในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการจัดประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ยังได้กำหนดให้ปี 2525 เป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยกำหนดคำขวัญว่า "Add life to Years" เพื่อให้ประเทศต่างๆ ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการวันอนามัยโลกของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้คำขวัญเป็นภาษาไทยว่า "ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน"

        ในส่วนของรัฐบาลไทยสมัยนั้น ซึ่งตรงกับรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้เห็นความสำคัญต่อนโยบายดังกล่าว โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานและจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุของทุกปี

วันผู้สูงอายุสากล

        องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันผู้สูงอายุสากล" เริ่มมาตั้งแต่ปี 1999 หรือ พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2525 องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และได้ให้ความหมายของคำว่า ...

        "ผู้สูงอายุ" หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุตอนต้น คือ บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง และผู้สูงอายุตอนปลาย คือ บุคคลที่มีอายุ 70 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง



ดอกลำดวน


ดอกไม้สัญลักษณ์ผู้สูงอายุ 

        รัฐบาลในสมัย พล.เอกเปรม ติณสูลานนท์ นอกจากจะอนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ แล้วกำหนดให้ "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย 

        สำหรับสาเหตุที่เลือก "ดอกลำดวน" เนื่องจากต้นลำดวนหรือหอมหวล (Melodorum fruticosum Lour) ตามชื่อไทยพื้นเมือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sphaerocoryne clavipes.จัดอยู่ในวงศ์ Annonaceae. เป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มาก ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น กลีบแข็งแรงไม่ร่วงง่าย เปรียบเหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรมคุณงามความดีให้กับลูกหลานไว้เป็นแบบอย่างสืบต่อไป 

กิจกรรมวันผู้สูงอายุ           
 
        โดยทั่วไปจะมีการจัดกิจกรรมรดน้ำดำหัว มอบของขวัญ และขอพรจากผู้สูงอายุตามหมู่บ้าน และชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ จะมีการให้สิทธิพิเศษในการใช้บริการ 

12 เมษายน วันป่าชุมชนชายเลนไทย

วันป่าชุมชนชายเลนไทย

12 เมษายน

วันป่าชุมชนชายเลนไทย

ป่าชายเลนเกิดจากตะกอนที่มากับแม่น้ำ สะสมรวมตัวกันเป็นหาดเลนกว้าง บริเวณรอยต่อของทะเลกับพื้นดิน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสัตว์บก โดยปัจจุบันป่าชายเลนถูกรุกล้ำทำให้ระบบนิเวศน์ต่างๆ เสียไป จึงมีการกำหนดให้วันที่ 12 เมษายน ของทุกปี เป็น "วันป่าชุมชนชายเลนไทย" เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันรักษาทรัพยากรธรรมชาตินี้ไว้ไม่ให้สูญหายไป รวมถึงสร้างจิตสำนึก ในการอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อนำมาพัฒนาให้ป่าชายเลนไทยดำรงอยู่ต่อไป

 

ประโยชน์ของป่าชายเลน

ป่าชายเลน (Mangrove Forest) เป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยพืชหลากชนิดและหลายตระกูล โดยเฉพาะไม้ใบที่เขียวตลอดปี เป็นศูนย์รวมของพืชที่ขึ้นอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ หรือปากอ่าว ทะเลสาบ และเกาะ ป่าชายเลน ในเมืองไทยมีประมาณ 78 ชนิด เช่น โกงกาง โปรง ลำพู ตะบูน เหงือกปลาหมอ จาก ตาตุ่มทะเล หงอนไก่ เป็นต้น โดยจะมีการแบ่งเขตการแพร่กระจายกันอย่างชัดเจน ซึ่งกลายเป็นแหล่งรวมพันธุ์สัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งสัตว์บก สัตว์ปีกและสัตว์น้ำ นับว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์มากทั้งในเขตป่าชายเลนและตามแนวชายฝั่ง โดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลา ที่มีมากมายหลายชนิดที่ชาวบ้านสามารถนำมารับประทานและขายเป็นรายได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นป่าชายเลน จึงเปรียบเสมือนตลาดสดสำหรับชุมชน ชุมชนชายฝั่งจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้นั้นจะต้องขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนเป็นหลัก

นอกจากนั้นป่าชายเลนยังคอยเกื้อหนุนต่อทรัพยากรทางทะเล เช่น เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดต่างๆ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำนานาพันธุ์ ช่วยป้องกันการพังทลายชายฝั่งจากคลื่นลมและทำหน้าที่รักษาสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่ง ที่เกื้อกูลต่อพันธุ์สัตว์และพรรณพืช รวมถึงลดมลภาวะทางอากาศและสิ่งปฏิกูลต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นป่าชายเลนจึงถือว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งต่อชุมชนและประเทศชาติของเรา

แนวทางการอนุรักษ์ป่าชายเลน

  • ให้ชุมชนมามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นของการฟื้นฟู
  • นำองค์ความรู้ดั้งเดิมและวิถีชีวิตของชุมชนมาประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรป่าชาเลน
  • สร้างจิตสำนึกและเสริมสร้างแรงจูงใจต่างๆ ให้กับชุมชน
  • ให้ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ แก่ชุมชนในการฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรป่าชายเลน
  • สร้างผู้นำและเครือข่ายเพื่อให้องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง
  • จัดกิจกรรมเกี่ยวกับป่าชายเลน เช่น การปลูกป่าชายเลน การอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน

7 เมษายน วันอนามัยโลก


h1

         ทุกวันที่ 7 เมษายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้เป็น "วันอนามัยโลก" เพื่อให้สมาชิกทุกประเทศ ได้ใช้เป็นโอกาสรณรงค์ให้ประชาชน และทุกภาคส่วนของสังคม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ และร่วมมือกันในการควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหาสุขภาพ รวมทั้งสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน … ว่าแต่ วันอนามัยโลก มีประวัติความเป็นมา และมีความสำคัญอย่างไร วันนี้ กระปุกดอทคอม มีข้อมูลมาฝากกันค่ะ

ประวัติความเป็นมา 

         องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) เป็นองค์กรของสหประชาชาติซึ่งมีกำเนิดมาจาก ประชากรของโลกได้ถูกภัยคุมคามจากโรคระบาดต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาที่ต้องพิจารณากันในระหว่างประชาชาติต่าง ๆ เพราะจะมีโรคระบาดแพร่จากประเทศหนึ่งไปยังประเทศหนึ่งอยู่เสมอ ทำให้ต้องมีการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศต่าง ๆ  และได้ร่วมมือกันจัดการประชุมเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2349 เพื่อวางมาตรการควบคุมและกักกันโรคระบาดระหว่างประเทศ

         ต่อมา คณะมนตรีด้านสังคมและเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติ ได้จัดให้มีการประชุมว่าด้วยสุขภาพระหว่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2489 ที่เมืองนิวยอร์ก ที่ประชุมได้เล็งเห็นว่าสุขภาพของประชาชนเป็นรากฐานของสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัยของประชาชาติทั้งมวล จึงได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อเตรียมการสถาปนาองค์การอนามัยโลก โดยจัดการร่างธรรมนูญขององค์การ อนามัยโลกแล้วเสร็จ ประกาศใช้ธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2491 พร้อมกันนี้ สมัชชาองค์การอนามัยโลก ได้พิจารณาให้เฉลิมฉลองวันที่ 7 เมษายนของทุกปีเป็นวันอนามัยโลก (World Health Day) และมีมติให้มีการฉลองพร้อมกันทั่วโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2492 โดยองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดข้อปัญหาทางอนามัยขึ้นปีละ 1 เรื่อง สำหรับตั้งเป็นคำขวัญ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกใช้เป็นแนวทางในการให้สุขศึกษาแก่ประชาชน คำขวัญดังกล่าวมีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2493

งานขององค์การอนามัยโลก นั้นแยกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ 

         1. พยายามอำนวยความช่วยเหลือให้แก่ประเทศต่าง ๆ ตามความต้องการเมื่อได้ร้องขอมา

         2. จัดให้บริการด้านสุขภาพอนามัยแก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

         3. ส่งเสริมและประสานงานด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อันไม่อาจดำเนินไปได้โดยลำพังแต่ละประเทศ


ความสำคัญของวันอนามัยโลก 

         องค์การอนามัยโลก นับเป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์การหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และสังคมขององค์การสหประชาชาติ โดยอาศัยแนวความคิด และการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอนามัยที่มีมาก่อน


วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การอนามัยโลก 

         1. เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วโลกให้มีพลานามัยอยู่ในระดับสูงสุดเท่าที่สามารถจะทำได้ทั้งในร่างกายและจิตใจ

         2. เพื่อประสานงานส่งเสริมการอนามัยระหว่างชาติ  และร่วมมือกับรัฐบาลประเทศสมาชิกในการดำเนินงานตามโครงการอนามัยต่าง ๆ  รวมทั้งกำหนดมาตรฐานยา และวัคซีน

         3. เพื่อให้บริการทางวิชาการในด้านอนามัยระหว่างประเทศและส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์

         นอกจากนี้ ในทุก ๆ ปี องค์การอนามัยโลก จะมีการตั้งเป้าหมายสำหรับการทำงานด้วยคำขวัญสั้น ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลก ใช้เป็นแนวทางในการให้สุขศึกษาแก่ประชาชนในวันอนามัยโลกแต่ละปี ซึ่งคำขวัญดังกล่าวเริ่มตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2493

คำขวัญ วันอนามัยโลก พ.ศ. 2493-2560 มีดังนี้ 

          พ.ศ. 2493 คำขวัญ คือ "Know Your Own Health Services" เป็นภาษาไทยว่า "จงคุ้นเคยกับบริการอนามัยที่มีไว้เพื่อท่าน"

          พ.ศ. 2494 คำขวัญ คือ "Healthy for Your Child and World's Children" เป็นภาษาไทยว่า "สุขภาพสำหรับเด็กของท่านและของโลก"

          พ.ศ. 2495 คำขวัญ คือ "Healthy Surrounding Makes Healthy People" เป็นภาษาไทยว่า "สิ่งแวดล้อมได้สุขลักษณะ จะทำให้ประชาชนมีอนามัยดีขึ้น"

          พ.ศ. 2496 คำขวัญ คือ "Health is Wealth" เป็นภาษาไทยว่า "อโรคยา ปรมาลาภา"

          พ.ศ. 2497 คำขวัญ คือ "The Nurse-Pioneer of Health" เป็นภาษาไทยว่า "พยาบาล คือ ผู้กรุยทางสุขภาพอนามัย"

          พ.ศ. 2498 คำขวัญ คือ "Clean Water Makes Better Health" เป็นภาษาไทยว่า "น้ำสะอาด ทำให้อนามัยดี"

          พ.ศ. 2499 คำขวัญ คือ "Fight Disease Carrying Insects" เป็นภาษาไทยว่า "จงกำหนดแมลงนำโรค"

          พ.ศ. 2500 คำขวัญ คือ "Food and Health" เป็นภาษาไทยว่า "กินดีมีสุข"

          พ.ศ. 2501 คำขวัญ คือ "Ten Years of Health Progress (1948-1957)" เป็นภาษาไทยว่า "สาธารณสุขก้าวหน้า (2491-2500)"

          พ.ศ. 2502 คำขวัญ คือ "Mental Illness and Mental Health in the World of Today" เป็นภาษาไทยว่า "โรคจิต และสุขภาพจิตทั่วโลกในปัจจุบัน"

          พ.ศ. 2503 คำขวัญ คือ "Malaria Eradication - A World Challenge" เป็นภาษาไทยว่า "ทั่วโลกเร่งรัดให้กำจัดมาลาเรีย"

          พ.ศ. 2504 คำขวัญ คือ "Accidents and Their Prevention" เป็นภาษาไทยว่า "อุบัติเหตุป้องกันได้ ถ้าไม่ประมาท"

          พ.ศ. 2505 คำขวัญ คือ "Preserve Slight : Prevent Blindness" เป็นภาษาไทยว่า "ถนอมสายตา ป้องกันตาบอด"

          พ.ศ. 2506 คำขวัญ คือ "Hunger : Disease of Millions" เป็นภาษาไทยว่า "คนนับล้านมีทุกข์ เพราะโรคขาดสารอาหาร จงกินดีจะมีสุข"

          พ.ศ. 2507 คำขวัญ คือ "No Truce for Tuberculosis" เป็นภาษาไทยว่า "วัณโรคคุกคาม ต้องปราบปรามไม่หยุดยั้ง"

          พ.ศ. 2508 คำขวัญ คือ "Smallpox Constant Alert" เป็นภาษาไทยว่า "ไข้ทรพิษยังมี รีบปลูกฝีทั่วทุกคน"

          พ.ศ. 2509 คำขวัญ คือ "Man and His Cities" เป็นภาษาไทยว่า "ปรับปรุงบ้านเมือง ราษฎร์รุ่งเรือง ใจสุขสันต์"

          พ.ศ. 2510 คำขวัญ คือ "Partners in Health" เป็นภาษาไทยว่า "พัฒนาอนามัยให้สุขสันต์ ต้องร่วมกันทุกฝ่ายจึงได้ผล"

          พ.ศ. 2511 คำขวัญ คือ "Health in the World of Tomorrow" เป็นภาษาไทยว่า "อนาคตจะสดใส เพราะอนามัยช่วยส่งเสริม"

          พ.ศ. 2512 คำขวัญ คือ "Health, Labour and Productivity" เป็นภาษาไทยว่า "อนามัยดี ทวีแรงงาน เพิ่มปริมาณผลผลิต"

          พ.ศ. 2513 คำขวัญ คือ "Early Cancer Detection Saves Lives" เป็นภาษาไทยว่า "มะเร็งรักษาได้ พบเร็วเท่าใด ชีวิตปลอดภัย"

          พ.ศ. 2514 คำขวัญ คือ "A Full Life Despite Diabetes" เป็นภาษาไทยว่า "แม้เป็นเบาหวาน ชีวิตก็เป็นปกติสุขได้"

          พ.ศ. 2515 คำขวัญ คือ "Your Heart is Your Health" เป็นภาษาไทยว่า "หัวใจดีมีสุข"

          พ.ศ. 2516 คำขวัญ คือ "Health Begins at Home" เป็นภาษาไทยว่า "อนามัยดีเริ่มที่บ้าน"

          พ.ศ. 2517 คำขวัญ คือ "Better Food for a Healthier World" เป็นภาษาไทยว่า "ผลิตอาหารพอ บริโภคดี ทวีสุขภาพ"

          พ.ศ. 2518 คำขวัญ คือ "Smallpox : Point of No Return" เป็นภาษาไทยว่า "ไข้ทรพิษจะไม่กลับมา ถ้าปวงประชาได้ปลูกฝี"

          พ.ศ. 2519 คำขวัญ คือ "Foresight Prevents Blindness" เป็นภาษาไทยว่า "ป้องกันล่วงหน้า ตาไม่บอด"

          พ.ศ. 2520 คำขวัญ คือ "Immunize and Protect Your Child" เป็นภาษาไทยว่า "วัคซีนช่วยป้องกัน เด็กของท่านพ้นโรคภัย"

          พ.ศ. 2521 คำขวัญ คือ "Down with High Blood Pressure" เป็นภาษาไทยว่า "อายุจะสั้น ถ้าความดันโลหิตสูง"

          พ.ศ. 2522 คำขวัญ คือ "A Healthy Child, A Sure Future" เป็นภาษาไทยว่า "อนามัยดีแต่เล็ก อนาคตเด็กแจ่มใส"

          พ.ศ. 2523 คำขวัญ คือ "Smoking or Health, The Choice Is Yours" เป็นภาษาไทยว่า "สุขภาพจะดี เมื่องดบุหรี่ได้"

          พ.ศ. 2524 คำขวัญ คือ "Health for All by the Year 2000" เป็นภาษาไทยว่า "สุขภาพดีถ้วนหน้า เมื่อ 2543"

          พ.ศ. 2525 คำขวัญ คือ "Add Life to Years" เป็นภาษาไทยว่า "ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน"

          พ.ศ. 2526 คำขวัญ คือ "Health for All by The Year 2000 : The Countdown Has Begun !" เป็นภาษาไทยว่า "ร่วมกันเร่งพัฒนา ให้สุขภาพดีถ้วนหน้า ก่อน 2543"

          พ.ศ. 2527 คำขวัญ คือ "Children's Health 'Tomorrow's Wealth'" เป็นภาษาไทยว่า "เด็กสุขภาพดี จะมั่งมีวันหน้า"

          พ.ศ. 2528 คำขวัญ คือ "Health Youth Our Best Resource" เป็นภาษาไทยว่า "เยาวชนสุขภาพดี เหมือนมีทรัพยากรเยี่ยม"

          พ.ศ. 2529 คำขวัญ คือ "Health Living : Everyone A Winner" เป็นภาษาไทยว่า "คุณภาพชีวิตดี ทุกชีวีมีสุข"

          พ.ศ. 2530 คำขวัญ คือ "Immunization : A Chance for Every Child" เป็นภาษาไทยว่า "ให้ภูมิคุ้มกัน เป็นโอกาสสำคัญของเด็กทุกคน"

          พ.ศ. 2531 คำขวัญ คือ "Health for All, All for Health" เป็นภาษาไทยว่า "สุขภาพดีถ้วนหน้า เพราะประชาร่วมใจ"

          พ.ศ. 2532 คำขวัญ คือ "Let's Talk Health" เป็นภาษาไทยว่า "คุยกันวันละนิด เพื่อชีวิตและสุขภาพ"

          พ.ศ. 2533 คำขวัญ คือ "Our Planet - Our Health" เป็นภาษาไทยว่า "ร่วมขจัดมลพิษ เสริมสร้างชีวิตและอนามัย"

          พ.ศ. 2534 คำขวัญ คือ "Should Disaster Strike - Be Prepared" เป็นภาษาไทยว่า "เตรียมพร้อมไว้รับภัยพิบัติ - เพื่อกำจัดความสูญเสีย"

          พ.ศ. 2535 คำขวัญ คือ "Heartbeat - The Rhythm of Heart" เป็นภาษาไทยว่า "ออกกำลังกายทุกวัน งดไขมันเหล้าบุหรี่ สุขภาพจิตดี จะไม่มีโรคหัวใจ"

          พ.ศ. 2536 คำขวัญ คือ "Handle Life with Care : Prevent Violence and Negligence" เป็นภาษาไทยว่า "ถนอมชีวิต คิดรอบคอบ ปลอดอุบัติเหตุ"

          พ.ศ. 2537 คำขวัญ คือ "Oral Health for a Healthy Life" เป็นภาษาไทยว่า "แปรงฟันถูกวิธี สุขภาพช่องปากดี พาชีวีสุขสันต์"

          พ.ศ. 2538 คำขวัญ คือ "Target 2000 - A World without Life" เป็นภาษาไทยว่า "2543 ปีเป้าหมาย โลกไร้โปลิโอ"

          พ.ศ. 2539 คำขวัญ คือ "Healthy Cities - For Better Health" เป็นภาษาไทยว่า "บ้านน่าอยู่ เมืองน่าอยู่ อนามัยดี ชีวีสดใส"

          พ.ศ. 2540 คำขวัญ คือ "Emerging Infectious Diseases - Global Alert, Global Response" เป็นภาษาไทยว่า "โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ - ตื่นตัวทั่วหน้า ค้นคว้าแก้ไข"

          พ.ศ. 2541 คำขวัญ คือ "Pregnancy is Special - Let's Make It Safe" เป็นภาษาไทยว่า "ตั้งครรภ์นั้นประเสริฐ ร่วมมือกันเถิด แม่ลูกปลอดภัย"

          พ.ศ. 2542 คำขวัญ คือ "Active Ageing Makes the Difference" เป็นภาษาไทยว่า "ผู้สูงวัย อนามัยดี มีคุณค่า ช่วยพัฒนาสังคม"

          พ.ศ. 2543 คำขวัญ คือ "Safe Blood Starts with Me - Blood Saves Lives" เป็นภาษาไทยว่า "โลหิตฉันมั่นใจ ปลอดภัยกับผู้รับ"

          พ.ศ. 2544 คำขวัญ คือ "Stop Exclusion - Dare to Care" เป็นภาษาไทยว่า "ผู้ป่วยทางจิต อย่าคิดผลักไส ควรมีน้ำใจ ห่วงใยเยียวยา"

          พ.ศ. 2545 คำขวัญ คือ "Agita Mundo - Move for Health" เป็นภาษาไทยว่า "ขยับกาย สบายชีวี"

          พ.ศ. 2546 คำขวัญ คือ "Shape the Future of Life" เป็นภาษาไทยว่า "สิ่งแวดล้อมสะอาดสดใส เด็กไทยแข็งแรง"

          พ.ศ. 2547 คำขวัญ คือ  "Road Safety is NO Accident" เป็นภาษาไทยว่า "สำนึกดีขับขี่ปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุ"

          พ.ศ. 2548 คำขวัญ คือ  "Make Every Mother and Child Count" เป็นภาษาไทยว่า "สุขภาพแม่และเด็กไทย คือ หัวใจของครอบครัว และสังคม"

          พ.ศ. 2549 คำขวัญ คือ "Working Together for health" เป็นภาษาไทยว่า "สานมือ สานใจ  เพื่อคนไทยสุขภาพดี"

          พ.ศ. 2550 คำขวัญ คือ " Invest in Health, Build a Safer Future" เป็นภาษาไทยว่า "ประชาคมโลกปลอดภัย ต้องร่วมใจพัฒนาสาธารณสุข"

          พ.ศ. 2551 คำขวัญ คือ "Protecting Health from Climate Change" เป็นภาษาไทยว่า "รักษ์สุขภาพอนามัยพร้อมใจต้านโลกร้อน"

          พ.ศ. 2552 คำขวัญ คือ "Save Live. Make Hospital Safe in Emergency" เป็นภาษาไทยว่า "โรงพยาบาลพร้อม คุ้มครองทุกชีวิต ในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน"

          พ.ศ. 2553 คำขวัญ คือ "1000 cities, 1000 lives" เป็นภาษาไทยว่า "เมืองใหญ่ 1,000 แห่ง เรื่องราวดี ๆ จาก 1,000 ชีวิต"

          พ.ศ. 2554 คำขวัญ คือ "Combat drug resistance-No action, no cure tomorrow" เป็นภาษาไทยว่า "ใช้ยาปฏิชีวนะ อย่างถูกต้อง ป้องกันเชื้อดื้อยา เพื่อการรักษาที่ได้ผล"

          พ.ศ. 2555 คำขวัญ คือ "Good Health adds life to years" เป็นภาษาไทยว่า "ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน"


          พ.ศ. 2556 คำขวัญ คือ "Control your blood pressure" เป็นภาษาไทยว่า "รณรงค์ลดภาวะความดันโลหิตสูง"

          พ.ศ. 2557 คำขวัญ คือ "Small bite, Big threat" เป็นภาษาไทยว่า "ยุง : ภัยคุกคามความมั่นคงทางสุขภาพ"

          พ.ศ. 2558 คำขวัญ คือ "How safe is your food ? From farm to plate, keep it safe" เป็นภาษาไทยว่า "อาหารปลอดภัยสร้างได้ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหาร "

 
         พ.ศ. 2559 คำขวัญ คือ  "Halt the rise: beat diabetes" เป็นภาษาไทยว่า "ปราบเบาหวาน"


         พ.ศ. 2560 คำขวัญ คือ "Depression : Let's talk"

        
 เมื่อรู้ถึงความสำคัญของวันอนามัยโลกแล้ว ก็อยากให้ทุก ๆ คนตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว เพื่อสุขภายกายและสุขภาพใจที่ดี ตามคำขวัญของวันอนามัยโลกด้วยเช่นกัน

6 เมษายน วันจักรี

alt
 
วันจักรี

          วันจักรี วันที่ 6 เมษายนของทุกปี ซึ่ง วันจักรีมีความสําคัญอย่างไร เป็นวันหยุดราชการหรือไม่ เรามีข้อมูลมาฝาก 
 
          ในทุก ๆ วันที่ 6 เมษายนของทุกปีนั้นถือเป็นสำคัญอีกวันหนึ่งของไทย นั่นคือ วันจักรี ซึ่งเป็นวันที่เราจะร่วมกันระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวมถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงนำประวัติและความสำคัญของวันนี้มาฝากกันค่ะ

วันจักรี คือวันอะไร ตรงกับวันที่เท่าไร

          วันจักรี ภาษาอังกฤษคือ Chakri Memorial Day ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ดังนั้นในวันที่ 6 เมษายนของทุกปีจึงนับเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี

วันจักรี มีความสําคัญอย่างไร

          นอกจากจะเป็นวันแห่งการก่อตั้งราชวงศ์จักรีแล้ว ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ยังเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชการทรงสร้างกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของไทยอีกด้วย จึงนับเป็นวันครบรอบกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปัจจุบัน (พ.ศ. 2559) กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 234 ปี

          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงข้าราชการและประชาชน ได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง โดยได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และได้มีการย้ายที่อีกหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นพระพี่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท หรือพระที่นั่งศิวาลัยปราสาท 

          ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระบรมรูปของทั้ง 4 พระองค์ มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 


          ทั้งนี้การซ่อมแซม ก่อสร้าง และประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล มาแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนในปีนั้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า "วันจักรี" 

วันจักรี เป็นวันหยุดราชการหรือไม่

          ทุกวันที่ 6 เมษายน หรือวันจักรี รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ แต่หากวันจักรีในปีใดตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการถัดไป

วันจักรี กิจกรรมมีอะไรบ้าง

          ในวันจักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว และเสด็จฯ วางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า

          ขณะที่หน่วยงานราชการ เอกชน และภาคประชาชน จะจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมหาจักรีบรมราชวงศ์ เช่น จัดพิธีถวายบังคมพระรูป จัดนิทรรศการ กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ 

           และทั้งหมดก็คือความเป็นมาของวันจักรี ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่วันหยุดราชการธรรมดา ๆ แต่เป็นวันที่ประชาชนทุกคนควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์

วันพระราชสมภพ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
 

        alt                  

 

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้เสด็จนิวัติพระนคร แล้วประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

 

และเมื่อถึงงานพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอิสริยยศเมื่อประสูติ คือ "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี" โดยพระนามของพระองค์มาจากพระนามและนามของพระประยูรญาติหลายพระองค์ อันได้แก่


• สร้อยพระนาม "สิริ" มาจากพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
• สร้อยพระนาม "วัฒนา" มาจากพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สว่างวัฒนา) ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยยิกาใน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
• พระนาม "อุบลรัตน์" มาจากนามของ หม่อมหลวงบัว กิติยากร พระอัยกีของพระองค์

 

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระนามเล่นของพระองค์ว่า ลา ปูเป้ (La Poupée) ซึ่งเป็นคำมาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ตุ๊กตา ทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ของพระองค์ท่าน ทรงเรียกว่า "เป้" อีกด้วย



ที่มา: http://www.royjaithai.com/Princess_ubonrat.php# 

การศึกษา

การศึกษาของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนจิตรลดา จนกระทั่งทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา แล้วต่อมาจึงได้เสด็จไปประทับ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงเข้ารับการศึกษาต่อ



การเสกสมรส

alt
เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ เพื่อทรงเสกสมรสกับนายปีเตอร์ แลด เจนเซน ชาวอเมริกัน และทรงประทับอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 26 ปี 



เสด็จนิวัติประเทศไทย

alt
เมื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เมื่อได้ทรงประทับขณะอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พระองค์ก็จะเสด็จนิวัติประเทศไทยหลายครั้ง เพื่อทรงร่วมงานพระราชพิธีและพิธีต่าง ๆ และทรงเยี่ยมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นประจำ



พระกรณียกิจ

alt



 

๑. ด้านการส่งเสริมและช่วยเหลือ

๒. ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

๓. ด้านสังคมสงเคราะห์

๔. ด้านการศาสนา

๕. ด้านการศึกษา

 

บทความ อื่นๆ ...


Thai Arabic Belarusian Chinese (Traditional) English French German Japanese Korean Vietnamese

















 

คุณพอใจ อบต.หนองกระเจ็ด ด้านใด





















 















QR Code
อบต.หนองกระเจ็ด



 


ลิขสิทธิ์ © 2559 - 2564 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเจ็ด จังหวัดเพชรบุรี สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระเจ็ด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โทร 0-3258-6261

นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล