วันอาทิตย์ที่ 02 เมษายน 2017 เวลา 00:00 น.
เขียนโดย นักประชาสัมพันธ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 (ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 5 ปีมะแม สัปตศก) ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ เป็นผู้ถวายพระประสูติกาล และได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราชบริพาร เรียกทั่วไปว่า ทูลกระหม่อมน้อย
พระนาม "สิรินธร" นั้น นำมาจากสร้อยพระนามของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉา (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
สำหรับสร้อยพระนาม "กิติวัฒนาดุลโสภาคย์" ประกอบขึ้นจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบรมราชบุพการี 3 พระองค์ ได้แก่ "กิติ" มาจากพระนามาภิไธยของ "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" สมเด็จพระราชชนนี (แม่) ส่วน "วัฒนา" มาจากพระนามาภิไธยของ "สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า" (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) สมเด็จพระปัยยิกา (ย่าทวด) และ "อดุล" มาจากพระนามาภิไธยของ "สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก" สมเด็จพระอัยกา (ปู่)
การศึกษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
เมื่อปี พ.ศ. 2501 พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และทรงศึกษาต่อในโรงเรียนจิตรลดาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย[5] และ ในปี พ.ศ. 2515 ก็ทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ ด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ
หลังจากนั้น พระองค์ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2520 พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98
พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร) ณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและสาขาภาษาบาลีและสันสกฤต จาก ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างนั้น มีพระราชกิจมากจนทำให้ไม่สามารถทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทได้พร้อมกันทั้ง 2 มหาวิทยาลัย พระองค์จึงตัดสินพระทัยเลือกทำวิทยานิพนธ์เพื่อให้สำเร็จการศึกษาที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรก่อน โดยทรงทำวิทยานิพนธ์ห้วข้อเรื่อง "จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง" ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2522 หลังจากนั้น พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์หัวข้อเรื่อง "ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท" ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยพระองค์ผ่านการสอบคัดเลือกอย่างยอดเยี่ยมด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผู้เข้าสอบทั้งหมด และทรงเป็นนิสิตปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ รุ่นที่ 4 พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเรื่อง "การพัฒนานวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย" เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักว่าสภาพการเรียนการสอนภาษาไทยนั้นมีปัญหา เพราะนักเรียนไม่ค่อยสนใจเรียนภาษาไทย มีความรู้ ความสามารถ ทักษะในการเข้าใจและใช้ภาษาไม่เพียงพอ พระองค์จึงทรงนำเสนอวิธีการสอนภาษาไทยในลักษณะนวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมความสนใจในการเรียนภาษาไทยของนักเรียนและเป็นสื่อที่จะช่วยให้ครูสอนภาษาไทยได้ง่ายขึ้น พระองค์ทรงสอบผ่านวิทยานิพนธ์อย่างยอดเยี่ยม สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529
การสถาปนาพระอิสริยศักดิ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ทรงได้รับความสำเร็จในการศึกษาอย่างงดงาม และทรงได้บำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ อยู่เสมอ ในด้านการพัฒนาบ้านเมือง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาและช่วยเหลือกิจการโครงการตามพระราชดำริทุกโครงการ พร้อมทรงรับพระบรมราโชบายมาทรงดำเนินการสนองพระเดชพระคุณในด้านต่าง ๆ นับเป็นการดูแลสอดส่องพระราชกรณียกิจส่วนหนึ่งต่างพระเนตรพระกรรณ ในด้านการพระศาสนา มีพระหฤทัยมั่นคงในพระรัตนตรัยและสนพระหฤทัยศึกษาหาความรู้ด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นอย่างแตกฉาน ในส่วนราชการในพระองค์นั้น ก็ได้สนองพระเดชพระคุณในพระราชภารกิจที่ทรงมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์นี้ กอปรด้วยพระจรรยามารยาท เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติแห่งขัตติยราชกุมารีทุกประการ เป็นที่รักใคร่นับถือ ยกย่องสรรเสริญพระเกียรติคุณกันอยู่โดยทั่ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) พร้อมทั้ง เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520
ในการสถาปนาพระอิสริยยศสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ตั้งแต่เริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน การสถาปนาพระยศ "สมเด็จพระ" นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการสถาปนาพระยศของสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง สมเด็จพระบรมอัยยิกาเธอ พระวิมาดาเธอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ในรัชกาลต่าง ๆ แต่การสถาปนาในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ขึ้นเป็น "สมเด็จพระ" จึงเป็นพระเกียรติยศที่สูงยิ่ง
พระราชกิจ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
นอกเหนือจากพระราชภารกิจในหน้าที่ราชการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ครอบคลุมงานสำคัญ ๆ อันเป็นประโยชน์หลักของบ้านเมือง เกือบทุกด้าน และทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ให้ทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจที่ทรงสืบสาน ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ มอบหมาย โดยเฉพาะการทรงงาน ด้านการบริหารองค์การ และมูลนิธิ เพื่อสาธารณกุศล ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ และการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในโอกาสต่าง ๆ เช่น การพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่าง ๆ เฝ้า ฯ การพระราชทานปริญญาบัตร การถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงจัดตั้งโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนผู้ยากไร้ในชนบท โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพอนามัย และแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ทรงเห็นว่าเด็กจะเรียนหนังสือไม่ได้ ถ้าท้องหิว หรือเจ็บป่วย จึงทรงริเริ่มโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ก่อสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ศูนย์การเรียนชุมชนสำหรับชาวไทยภูเขา ห้องเรียนเคลื่อนที่ ทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นค่าตอบแทนครูผู้สอน และทรงจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนพระราชทาน เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม จะได้มีความสามารถในการพึ่งตนเอง และเป็นที่พึ่งของครอบครัวได้ในอนาคต ทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการตามพระราชดำริอย่างใกล้ชิด และเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในโครงการ ด้วยพระองค์เองเสมอ
จากการที่มีประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล หรือสมทบทุนดำเนินงานโครงการพัฒนาต่าง ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นำเงินที่มีผู้ทูลเกล้า ฯ ถวายดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นกองทุน ทุนการกุศลสมเด็จพระเทพ ฯ เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนผู้ทุกข์ยากเดือดร้อน หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์อื่น ๆ
นอกเหนือจากงานพัฒนา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระทัยงานศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง มีพระราชดำริว่า ควรจะมีการถ่ายทอดงานด้านวัฒนธรรมไปสู่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ผ่านกระบวนการจัดการศึกษาอบรม ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้เรียนรู้ ตระหนักความสำคัญ รักและผูกพันในศิลปวัฒนธรรมของชาติ สามารถสืบทอดเพื่อการอนุรักษ์และอาจพัฒนาเป็นอาชีพได้ ทรงสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของไทย พระอุตสาหะในการปฏิบัติกิจการอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชน เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรทั่วหน้า จึงทรงได้รับการทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลเกียรติยศ พระเกียรติคุณ ตำแหน่งเกียรติยศ และปริญญากิตติมศักดิ์ จากสถาบัน หน่วยงานและองค์กร ทั้งในราชอาณาจักรและต่างประเทศจำนวนมาก
พระราชจริยาวัตรที่ประชาชนทั่วไปได้เห็นประจักษ์ คือ พระเมตตาและความเอาพระทัยใส่ในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชปณิธานที่จะช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยาก เดือดร้อนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา พสกนิกรต่างยกย่อง และชื่นชมในพระบารมี ดังนั้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่ทรงมีคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ มาโดยตลอด จึงมีบุคคล หน่วยงาน สมาคม และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในราชอาณาจักรและในต่างประเทศ ขอพระราชทานอัญเชิญพระนามาภิไธย และขอพระราชทานนาม ไปเป็นชื่อพรรณพืช และสัตว์ที่ค้นพบใหม่ในโลก รวมทั้งสถานที่ และสิ่งต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเป็นสิริมงคลสืบไป นอกจากนี้ ยังได้ทรงพระกรุณารับสมาคม สถาบัน และองค์กรต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริ หรือที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่ทรงให้การสนับสนุน ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลน หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ไว้ในพระราชูปถัมภ์